ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) หรือ CFP มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ความร่วมมือขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น CFP คือ การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน จนไปถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้า ให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ประโยชน์ของการทำ CEP
1. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
2. เป็นแนวทางนำไปสู่การประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน สร้างกำไร
3. สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ความแตกต่างของ CFP และ ISO14067:2018
CFP เป็นมาตรฐานที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประเทศไทย แต่ ISO14067 จะเป็นระบบมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก